ทฤษฎีดนตรี…เรียนทำไม? เรียนแล้วนำไปใช้ยังไง?

เคยหรือเปล่า? เวลาเริ่มต้นเรียนรู้วิธีการเล่นเครื่องดนตรีด้วยตนเอง หลายคนมักค้นหาวิธีการเล่นจากสื่อออนไลน์ต่าง ๆที่สอนกันอย่างแพร่หลาย อาจเริ่มต้นจากวิธีการจับคอร์ดแบบง่ายตามที่ผู้สอนได้สอนไว้ แต่สิ่งที่ตามมาคือคุณจะไม่สามารถเล่นเทคนิคในระดับที่ยากขึ้นได้เลย หรือ คุณไปสมัครเรียนตามสถาบันต่าง ๆ คุณครูก็สอนเรื่องทฤษฎีดนตรี เช่น การอ่านโน้ต, จังหวะ, หรือสัญลักษณ์ทางดนตรีมากมาย อาจมีคำถามเกิดขึ้นในใจว่าเรียนไปทำไม? เรียนแล้วเอาไปใช้ประโยชน์อะไร? ไม่เรียนแล้วได้ไหม? สอนเทคนิคการเล่นเครื่องดนตรีนั้น ๆเลยได้หรือเปล่า?

วันนี้เราจะมาเปิดโลกใหม่ให้ทุกคนได้รู้ถึงความสำคัญของทฤษฎีดนตรีที่ใครหลายคนอาจเบื่อหน่ายให้ได้ฟังกันนะคะ

ทฤษฎีดนตรีช่วยให้คุณมีความคิดสร้างสรรค์

หลายคนคิดว่าทฤษฎีดนตรีเป็นกฎเกณฑ์หรือข้อจำกัดสำหรับการเล่นเครื่องดนตรีหรือบทเพลงของคุณ เนื่องจากเราอาจจะไม่พยายามทำความเข้าใจ คิดว่ามันยุ่งยาก และมีความซับซ้อน บางครั้งอาจรู้สึกได้ว่าเหล่านั้นคือการปิดกั้นเสรีภาพ, อิสรภาพหรือความคิดสร้างสรรค์ในผลงานชิ้นเอกของคุณ

“นั่นเป็นความเชื่อที่ผิด” การรู้ถึงกฎเกณฑ์ทางดนตรีที่มากขึ้น ช่วยให้นักดนตรีสามารถรังสรรค์ผลงานได้อย่างอิสระมากขึ้นโดยใช้พื้นฐานทางด้านดนตรีในการสร้างผลงานใหม่ๆ ด้วยท่วงทำนองที่แตกต่าง ทำให้บทเพลงหรือผลงานนั้น ๆมีความเป็นเอกลักษณ์และน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

ทฤษฎีดนตรีคือภาษาสากลที่ใช้สื่อสารระหว่างนักดนตรี

ทฤษฎีดนตรีคือภาษาสากล ประกอบด้วยการฟัง พูด อ่าน และ เขียน  เป็นสิ่งที่ช่วยสื่อสารระหว่างนักดนตรีด้วยกันในการเล่นเป็นวง เป็นเหมือนทิศทางที่ทุกคนเข้าใจตรงกันว่าพวกเขาควรเล่นแบบไหน ความเร็วเท่าไหร่ การเดินคอร์ดเป็นอย่างไร จะเห็นได้ว่าหากนักดนตรีทุกคนเข้าใจทฤษฎีดนตรีก็จะช่วยให้คุณสื่อสารระหว่างกันได้ดีขึ้น และได้ผลงานในท่วงทำนองที่ไพเราะเช่นกัน

ทฤษฎีดนตรีช่วยประหยัดเวลา

บทเพลงในโลกนี้มีมากมายนับไม่ถ้วน และยังมีศิลปินที่สร้างสรรค์บทเพลงใหม่ออกมาทุกวัน หากคุณเป็นคนหนึ่งที่นั่งแกะโน้ตและใช้การจดจำ คุณอาจจะเล่นเพลงในได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง หากเวลาผ่านเลยไปคุณการอาจจำการเล่นบทเพลงนั่นๆไม่ได้อีกแล้ว นั่นเป็นเหตุผลที่หากคุณเข้าใจทฤษฎีดนตรีจริงจะช่วยให้คุณคุ้นเคยการอ่านโน้ตหรือการเดินคอร์ดต่าง ๆ ซึ่งช่วยให้คุณประหยัดเวลาไปได้มากโข เนื่องจากคุณเล่นบทเพลงนั้นด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่การท่องจำ

ทฤษฎีดนตรีช่วยให้การเล่นเครื่องดนตรีประเภทต่าง ๆได้ง่ายขึ้น

หลายคนอาจจะเคยเล่นเปียโนมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เมื่อคุณเติบโตขึ้น หากความหลงใหลและความสนใจในเรื่องของดนตรีของคุณมากขึ้น นั่นอาจทำให้คุณอยากเรียนรู้และเล่นเครื่องดนตรีประเภทอื่นด้วย ยกตัวอย่าง เช่น ไวโอลิน หรือ แซกโซโฟน

หากคุณสามารถอ่านโน้ตบนบรรทัด 5 เส้นทั้งกุญแจซอล หรือกุญแจประเภทอื่น ๆได้ นั่นก็ไม่ใช่เรื่องยากเลยสำหรับการเล่นเครื่องดนตรีประเภทต่าง ๆ  เพียงแค่เรียนรู้ตำแหน่งโน้ตแต่ละตัวบนเครื่องดนตรีนั้น ๆ คุณก็สามารถเปิดโลกของการเล่นเครื่องดนตรีอื่นได้อีกมากมายจากความเข้าใจในทฤษฎีดนตรีเพียงแค่ครั้งเดียว

แต่งบทเพลงโดยอาศัยความเข้าใจในทฤษฎีดนตรี

เมื่อเล่นดนตรีมาถึงจุดหนึ่งแล้ว นักดนตรีบางคนก็อยากจะมีผลงานเป็นของตนเองเพราะความชอบ ความหลงใหล หรือต้องการถ่ายทอดบทเพลงเรื่องราวชีวิตผ่านผลงานของตนเอง แน่นอนว่า “ทฤษฎีดนตรี” เป็นตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้คุณกำหนดทิศทางของเพลงได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการแต่งทำนอง, คีย์ที่เหมาะสมสำหรับนักดนตรีแต่ละท่าน, รูปแบบทางเดินคอร์ด, ความเร็วหรือจังหวะ, การเขียนโน้ต, การเรียบเรียงเสียงประสาน เหล่านี้จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ได้ผลงานเพลงที่ไพเราะและเป็นการพัฒนาความเข้าใจในเรื่องของทฤษฎีดนตรีอย่างถ่องแท้

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือประโยชน์ของการเรียนทฤษฎีดนตรี หากคุณลองเปิดใจศึกษาทฤษฎีดนตรีเพียงสักนิด เชื่อว่าความรู้ที่ได้นั้นจะช่วยเปิดโลกและประสบการณ์ใหม่ในการเรียนดนตรีได้มากขึ้น จะช่วยให้คุณเพลิดเพลินไปกับการเล่นเครื่องดนตรีไม่เพียงแค่ชิ้นเดียว อาจจะเป็นสอง, สาม, หรือสี่ตามความสนใจหรือความชอบของนักดนตรีแต่ละท่าน

“ทฤษฎีดนตรี” เพียงทำความเข้าใจแค่ครั้งเดียว แต่เหมือนได้รับโบนัสก้อนโตที่สามารถนำไปใช้ได้ไม่รู้จบ

สำหรับใครที่เพิ่งหัดเล่นเปียโนใหม่ แล้วนิ้วยังไม่แข็งแรง หรือคุณภาพเสียงที่ได้ยังไม่ดีเท่าที่ควร สามารถอ่าน ทำไมถึงควรวอร์มนิ้วก่อนการฝึกซ้อมเปียโน  จะช่วยให้คุณเข้าใจและมีกำลังใจในการฝึกซ้อมเปียโนมากยิ่งขึ้น

ขอให้สนุกกับการเล่นดนตรีกันนะคะ